108 จำนวนผู้เข้าชม |
เด็กปรับตัวช้า เด็กปรับตัวยาก (Slow to warm up) คืออะไร?
เด็กปรับตัวช้า คือเด็กที่มีลักษณะนิสัยแบบ "ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป" พวกไม่ได้มีปัญหาทางด้านพัฒนาการ แต่มีพื้นอารมณ์ที่ทำให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าใหม่ๆ เช่น สถานที่ คนแปลกหน้า กิจกรรม หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยความระมัดระวัง และใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยมากกว่าเด็กทั่วไปค่ะ
หากลองนึกภาพเมื่อลูกถูกพาไปงานวันเกิดเพื่อนเป็นครั้งแรก อาจจะยืนนิ่งๆ เกาะขาคุณพ่อคุณแม่แน่น ไม่กล้าเข้าไปเล่นกับเพื่อนๆ หรือร่วมกิจกรรม แต่หลังจากที่ได้สังเกตการณ์อยู่พักใหญ่ และเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่ และผู้คน ก็อาจจะค่อยๆ เข้าไปร่วมวงเล่นกับเพื่อนๆ
ลักษณะของเด็กปรับตัวช้า ปรับตัวยาก
ใช้เวลาในการปรับตัวนาน เมื่อลูกปรับตัวช้า ปรับตัวยาก เค้าต้องการเวลาในการทำความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ๆ อาจจะใช้เวลาเป็นนาที ชั่วโมง หรือเป็นวัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสิ่งเร้าตัวอย่างเช่น เมื่อลูกต้องย้ายโรงเรียนใหม่ อาจจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการทำความคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่ ครู และสภาพแวดล้อมในโรงเรียนค่ะ
ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างระมัดระวัง เด็กปรับตัวช้ามักจะไม่รีบร้อน แต่จะค่อยๆ สังเกตการณ์ ประเมินสถานการณ์ และตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ อย่างช้าๆตัวอย่าง เช่นเมื่อได้รับของเล่นชิ้นใหม่ อาจจะไม่รีบแกะกล่อง แต่จะใช้เวลาสำรวจและพิจารณาดู ก่อนที่จะเริ่มเล่น
มีกิจวัตรประจำวันซ้ำๆ เด็กปรับตัวช้ามักจะชอบความแน่นอน และคาดเดาได้ จึงชอบทำกิจกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ และรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่น อาจจะร้องไห้ หรือโวยวาย เมื่อคุณแม่เปลี่ยนเส้นทางการขับรถไปโรงเรียน หรือเปลี่ยนเมนูอาหารเช้า
มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ เด็กปรับตัวช้ามักจะมีอารมณ์ละเอียดอ่อน รับรู้ และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดี แต่ก็ทำให้เค้ารู้สึกวิตกกังวล หรือกลัวได้ง่าย เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เช่น อาจจะร้องไห้ เมื่อเห็นเพื่อนร้องไห้ หรือรู้สึกกังวล เมื่อต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะ
ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ เด็กปรับตัวช้ามักจะไม่แสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจน ไม่ค่อยยิ้ม หัวเราะ หรือร้องไห้เสียงดัง แต่จะแสดงออกอย่างนุ่มนวล และเก็บตัวมากกว่า อาจจะยิ้มเล็กๆ เมื่อได้รับคำชม หรือแสดงความไม่พอใจ ด้วยการนิ่งเงียบ
การเลี้ยงดูเมื่อลูกเป็นเด็กปรับตัวช้า ปรับตัวยาก
การเลี้ยงดูเด็กปรับตัวช้ามีหลักสำคัญคือ ความเข้าใจ ความอดทน และการยอมรับในตัวตนของลูก โดยมีเทคนิคที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ได้ค่ะ
สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้เวลาลูกในการปรับตัว อย่าเร่งเร้า หรือบังคับให้ลูกต้องเข้าสังคม หรือทำกิจกรรมต่างๆ เร็วเกินไป ให้ลูกได้เรียนรู้ และทำความคุ้นเคย ในจังหวะของตัวเองตัวอย่าง: หากลูกไม่กล้าเล่นกับเพื่อนในสนามเด็กเล่น อย่าบังคับให้ลูกเข้าไปเล่น แต่ลองนั่งเล่นอยู่ข้างๆ ลูก และพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น เช่น "ดูสิ เพื่อนๆ เล่นกันสนุกจังเลย" "หนูอยากลองเล่นบ้างไหม"
เตรียมความพร้อมก่อนที่จะพาลูกไปยังสถานที่ใหม่ๆ หรือพบเจอผู้คน เช่น เล่าให้ลูกฟังว่าจะไปที่ไหน จะเจอใครบ้าง มีกิจกรรมอะไร เพื่อลดความวิตกกังวลของลูกตัวอย่าง ก่อนพาลูกไปหาหมอฟัน อาจจะเล่าให้ลูกฟังว่า "วันนี้เราจะไปหาคุณหมอฟัน คุณหมอจะตรวจดูฟันของหนู ว่ามีฟันผุหรือเปล่า แล้วก็จะแปรงฟันให้หนูสะอาดวิ้งเลย
พยายามสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และปลอดภัยให้กับลูก ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคง และปลอดภัย จัดมุมสงบในบ้าน ที่ลูกสามารถพักผ่อน หรือทำกิจกรรมที่ชอบได้ เช่น มุมอ่านหนังสือ มุมวาดรูป
ให้กำลังใจลูก และชื่นชมเมื่อลูกมีความพยายาม หรือสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ก็ตาม เช่น หากลูกกล้าทักทายเพื่อนใหม่ ให้ชมลูกว่า "เก่งมากเลยลูก ที่กล้าทักทายเพื่อน"
ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ เช่น "ทำไมน้องถึงไม่กล้าเล่นกับเพื่อน เหมือนพี่เค้าล่ะลูก" เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกกดดัน และเสียความมั่นใจ
สังเกตุ และสนับสนุนความสนใจของลูก ให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ และพัฒนาศักยภาพของลูก หากลูกชอบวาดรูป ให้จัดหาอุปกรณ์วาดรูป และส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านนี้
คุณพ่อ คุณแม่ ควรระวังเรื่องอะไรบ้าง เมื่อลูกปรับตัวช้า ปรับตัวยาก
การเล่าให้ผู้คนรอบข้างฟังต่อหน้าลูก ว่าลูกเป็นเด็กขี้อาย หรือเด็กเก็บตัว อาจส่งผลต่อความมั่นใจ และภาพลักษณ์ของลูกในระยะยาวค่ะ หากลูกมีอาการวิตกกังวล หรือกลัวอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่กล้าไปโรงเรียน ไม่กล้าพูดคุยกับใคร ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น คุณหมอเฉพาะทางด้านพัฒนาการ นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาเด็ก เพื่อรับคำแนะนำ และช่วยเหลือ
หากคุณพ่อ คุณแม่กังวลว่าลูกปรับตัวช้า ปรับตัวยาก (Slow to Warm up)จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือส่งผลกระทบต่อการเรียน สามารถปรึกษา Growing Smart Clinic โทร 083-806-1418 หรือ เพื่อรับคำแนะนำ นัดหมายประเมินพัฒนาการ และสามารถเริ่มต้นการฝึกกระตุ้นและส่งเสริม แก้ไขปัญหาพัฒนาการ เพื่อให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขทั้งที่บ้าน และโรงเรียน ในสังคมภายนอกค่ะ